ระบบภาพเสียง, ระบบภาพฉาย,ระบบเสียง,ชุดประชุม,ไมค์ประชุม) ==>
  สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

ราคาติดตั้งโซล่าเซลล์ 5kW 10kW สำหรับบ้านพักอาศัย อัพเดท 2021

ราคาติดตั้งโซล่าเซลล์ 5kW 10kW สำหรับบ้านพักอาศัย อัพเดท 2021

ติดตั้งโซล่าเซลล์ บนหลังคา

ราคาติดตั้งโซล่าเซลล์ 5kW 10kW สำหรับบ้านพักอาศัย อัพเดท 2021

คำถามที่มักจะเจอบ่อยคือ ติดตั้งโซล่าเซลล์ตอนนี้มันราคาประมานเท่าไหร่กัน?  ซึ่งหากเราเสิชในอินเตอร์เน็ตแล้วโทรถามแต่ละเจ้า เราอาจจะสงสัยว่าทำไมราคามันแตกต่างกันพอสมควรเลย

ราคาของการติดตั้งโซล่าเซลล์ เราสามารถกะคร่าวๆประมาณ 25-40 บาท/Wp สำหรับการการติดตั้งตามบ้านพักอาศัย ขึ้นอยู่กับ add-on ต่างๆ ว่าเราต้องการอุปกรณ์ขนาดไหน service อะไรบ้าง

ในท้ายบทความผมจะสรุปให้ดูระหว่างระบบ 5kW และ 10kW ว่าราคาระบบแบบเต็มที่ไม่ควรจะเกินเท่าไหร่นะ ผมอาจจะเอาราคาแต่ละเจ้ามาเปรียบเทียบให้ดูไม่ได้ เพราะการแข่งขันสูง และราคามีการเปลี่ยนตลอด

บทความต่อไปนี้ ผมสรุปมาจากคลิปด้านล่างครับ ใครขี้เกียจอ่านก็ฟังในคลิปเอานะ ใครอยากฟังใน “ราคาติดตั้งโซล่าเซลล์ 5kW 10kW ตอนนี้เท่าไหร่ อัพเดท 2021”

8 ข้อ ที่ทำให้ราคาระบบโซล่าเซลล์แตกต่างกัน

หากเราจะเอาสองสิ่งมาเปรียบเทียบกันให้แฟร์ เราควรเปรียบเทียบสเป็คและบริการของแต่ละเจ้าด้วย โดยผมได้สรุป 8 ข้อที่เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับราคาการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ มาให้เพื่อนๆได้ฟังกัน

  • สเป็คของอุปกรณ์ที่ติดตั้ง เช่น แผงโซล่าเซลล์ อินเวอร์เตอร์ เกรดสายไฟ ต่างๆ
  • ระบบเป็น 1 เฟสหรือ 3 เฟส
  • รวมการขออนุญาตหรือไม่
  • การรับประกันหลังติดตั้ง โดยมากในเมืองไทยจะอยู่ที่ประมาณ 1-3 ปี
  • คุณภาพการติดตั้งต่างๆ เช่น ความปลอดภัยในการขึ้นติดบนหลังคา
  • ลักษณะการติดตั้ง เช่นติดรางบนหลังคา หรือติดบนดาดฟ้า
  • ระยะสายไฟ หากบ้านมีพื้นที่ใหญ่ ระยะการโยงสายไกล อาจจะต้องเสียค่าสายไฟเพิ่ม
  • ระยะการเดินทางของผู้ติดตั้ง (พยายามเลือกผู้ติดตั้งท้องถิ่น ถ้าเป็นไปได้)

 

ราคาติดตั้งโซล่าเซลล์แบบคร่าวๆ

หากใครอยากรู้ราคาติดตั้งโซล่าเซลล์แบบเร็วๆ ราคาจะตกประมาน 25-40 บาท/W เช่น ติด 5kW ก็เอา 5000W x 25-40 บาท ได้เท่าไหร่ก็ว่ากันไป ส่วนมากขนาดเล็กๆอย่างบ้านเรือนก็จะอยู่ราวๆ 27 – 35บาทต่อ Wp ส่วนสเกลใหญ่ตามโรงงานอยู่ราวๆ 20-28 บาทต่อ Wp ครับ เป็นแค่การประมานเท่านั้นนะ

สำหรับการติดโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้าน หากเราไปถามผู้ติดตั้งทั่วๆไปที่เน้นราคาถูกเราจะได้ราคาอยู่ที่ประมาณ 110,000 – 130,000 สำหรับระบบ 5kW (ขนาดที่นิยมสำหรับโฮมออฟฟิศขนาดเล็ก) ซึ่งจะลดค่าไฟได้ประมาณ 2,500-3,000 บาทต่อเดือนโดยประมาณ

ราคาที่เพิ่มขึ้น จากการเพิ่มออฟชั่นต่างๆ

ทีนี้หากเราเอาระบบราคาถูกมาเป็นตัวตั้งแล้วบวกออฟชั่นต่างๆที่ควรมีเข้าไป เรามาดูกันนะว่าราคามันจะเป็นประมาณเท่าไหร่ (โดยประมาณเท่านั้นนะ)

1.   หากอยากเปลี่ยนไปใช้ แผงโซล่าร์ Tier 1 จะตกคร่าวๆนะ อยู่ราวๆ 2,000-2,500 บาทต่อ kWp 

2.   เปลี่ยนไปใช้ Inverter เกรดดีหน่อย เช่น Huawei อาจจะต้องเพิ่มประมาณ 4,000-6,000 บาทต่อ kWp (ส่วนตัวคิดว่าอินเวอร์เตอร์ที่มาตราฐานหน่อยอย่าง SOFAR ก็ถือว่าเพียงพอนะ อาจจะไม่ต้องเพิ่มในส่วนนี้)

3.   ค่าขออนุญาติอยู่ราวๆ 20,000-30,000 บาท ระบบเกิน 10kW ราคาจะสูงกว่านี้เล็กน้อย (ค่าวิศวกร ค่าคนเดินเรื่อง ค่าเปลี่ยนมิเตอร์)

4.   การรับประกันการติดตั้ง ตรงนี้โดยมากควรจะรับประกันอยู่แล้วนะครับ ปัจจุบันยังไม่เคยเห็นบริษัทไหนที่ไม่รับประกันแล้วคิดค่าประกันเพิ่ม แต่ควรตรวจสอบตรงนี้ทุกครั้งก่อนเซ็นสัญญานะ (ตรงนี้ควรรวมค่าล้างแผงปีละ 1 ครั้ง และเช็คระบบปีละ 1 ครั้งด้วย)

5.   คุณภาพการติดตั้งโดยมากผู้ติดตั้งที่ดีจะมีอุปกรณ์ safety ต่างๆ สลิงในการทำงานบนหลังคา แผ่นสำหรับเหยียบเพื่อกันกระเบื้องแตกโดยเฉพาะกระเบื้องลอนคู่ ซึ่งโดยมากผู้รับเหมาไทยไม่ค่อยมีตรงนี้ บริษัทไหนมีราคาค่าติดตั้งก็จะสูงกว่าเจ้าอื่นเล็กน้อย ซึ่งผมอยากให้ตรงนี้ถูกบรรจุเป็นมาตราฐานการติดตั้งโซล่าเซลล์นะ

6.   ลักษณะการติดตั้งบนหลังคา เช่น หากเป็นดาดฟ้าต้องใช้ mounting จะตกราคา 2,000 บาทต่อ kWp โดยประมาณ

7.   ระยะสายไฟต่างๆ ซึ่งโดยปกติผู้ติดตั้งจะให้ฟรีประมาณ 20-50 เมตรแรก ส่วนหากเกินกว่านี้จะต้องเพิ่มค่าสายไฟประมาณ 30-100 บาทตามระยะ ส่วนมากผมว่าไม่น่าเกินนะ

8.   ระยะการเดินทางของผู้ติดตั้ง อันนี้แล้วแต่ทางผู้รับเหมา แต่อย่างที่ผมแนะนำไปเสมอว่า “ควรเลือกผู้ติดตั้งใกล้บ้านนะ”

ราคาระบบโซล่าเซลล์ 5kW (Full option)

ทีนี้เรามาดูกันว่าถ้าเราบวกเข้าไปแต่ละข้อแล้ว เราจะได้ระบบที่ราคาเท่าไหร่กัน ผมขอเริ่มต้นที่ระบบ 5kW นะ ราคาที่บวกเพิ่มผมจะใช้ราคาที่ผมเคยเห็นมานะครับ

คำอธิบาย

1.   ระบบ 5kW ราคา 130,000 บาท เปลี่ยนเป็นแผง Tier 1 อีก 15,000 บาท เท่ากับ 145,000 บาท

2.   เปลี่ยนไปใช้อินเวอร์เตอร์เกรดดี บวกเพิ่มประมาณ 20,000 บาท เท่ากับ 165,000 บาท

3.   ค่าขออนุญาต 25,000 บาท เท่ากับ 190,000 บาท

4.   การรับประกันเป็นมาตราฐานที่ควรมี ผมไม่บวกเพิ่มนะ

5.   คุณภาพความปลอดภัยการติดตั้ง จะต้องมีการเทรนนิ่งพนักงานต่างๆ ซึ่งน่าจะบวกไปอีกซัก 10,000 บาท เท่ากับ 200,000 บาท

6.   ราคาค่า mounting ไม่คิดเพิ่มนะครับ เพราะส่วนมากน่าจะติดบนหลังคา

7.   ระยะสายไฟไม่คิดเพิ่มเนื่องจากส่วนมากไม่น่าจะเกินระยะที่ผู้รับเหมาให้ฟรีนะ

8.   การเดินทางของผู้รับเหมา อันนี้ไม่คิดเพราะว่าผมแนะนำให้ติดกับผู้ติดตั้งใกล้บ้านนะครับ

ดังนั้นจะเห็นว่าจะเป็นแพคเกจพรีเมียมยังไงสำหรับระบบ 5kW 1เฟส ส่วนตัวผมคิดว่าไม่ควรจะเกินราคา 200,000 บาท นะครับ (รวมขออนุญาต) หากเกินกว่านี้ผมแนะนำให้ลองคุยราคาดูนะครับ หรือลองถามเหตุผลที่ราคาแพงกว่าปกติดูนะครับ

ราคาระบบโซล่าเซลล์ 10kW (Full option)

มาดูระบบ 10kW กันบ้างนะ ในส่วนระบบ 10kW 3 เฟส ราคาที่เพิ่มขึ้นมาต่างๆจะไม่ได้เป็น 2 เท่าจาก 5kW นะครับ เพราะในระบบโซล่าเซลล์ ยิ่งระบบใหญ่ราคาต้นทุนการติดตั้งต่อ Wp จะถูกลงนะ

คำอธิบาย

1.   ระบบ 10kW ราคา 240,000 บาท เปลี่ยนเป็นแผง Tier 1 อีก 25,000 บาท เท่ากับ 265,000 บาท

2.   เปลี่ยนไปใช้อินเวอร์เตอร์เกรดดี บวกเพิ่ม 20,000 บาท เท่ากับ 285,000 บาท

3.   ค่าขออนุญาต 25,000 บาท เท่ากับ 310,000 บาท

4.   การรับประกันเป็นมาตราฐานที่ควรมี ผมไม่บวกเพิ่มนะ

5.   คุณภาพความปลอดภัยการติดตั้ง จะต้องมีการเทรนนิ่งพนักงานต่างๆ ซึ่งน่าจะบวกไปอีกซัก 15,000 บาท เท่ากับ 325,000 บาท

6.   ราคาค่า mounting ไม่คิดเพิ่มนะครับ เพราะส่วนมากน่าจะติดบนหลังคา

7.   ระยะสายไฟไม่คิดเพิ่มเนื่องจากส่วนมากไม่น่าจะเกินระยะที่ผู้รับเหมาให้ฟรีนะ

8.   การเดินทางของผู้รับเหมา อันนี้ไม่คิดเพราะว่าผมแนะนำให้ติดกับผู้ติดตั้งใกล้บ้านนะครับ

ดังนั้นจะเห็นว่าจะเป็นแพคเกจพรีเมียมสำหรับระบบ 10kW 3 เฟส ไม่ควรจะเกิน 325,000บาท นะครับ (รวมขออนุญาต)

หากเกินกว่านี้ผมแนะนำให้ลองคุยราคาดูครับ หรือถามผู้ติดตั้งเลยก็ได้ว่าทำไมแพงกว่าปกติ บางทีทางผู้ติดตั้งอาจจะเลือกของบางอย่างที่มีเกรดดีกว่าระบบปกติก็เป็นไปได้ครับ

ที่มา :  energyfordummies

 

 

 

 

 

 

 

 

ขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์

 

   




 
       อันดับแรก ท่านต้อง เลือกบริษัทรับออกแบบติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ที่มีมาตรฐานการติดตั้ง เลือกใช้เครื่อง Inverter ที่ได้รับการรับรองจากทาง กฟน. และ กฟภ. รวมถึงอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆที่ได้รับมาตรฐาน นอกจากจะได้มาตรฐานตามที่การไฟฟ้าฯ กำหนดแล้ว ด้านความปลอดภัยก็มีความสำคัญมากไม่แพ้กัน

       หากเลือกบริษัทหรือผู้รับเหมาที่มีความรู้ไม่เพียงพอ อาจจะไม่ได้ติดตั้งสายกราวด์ DC หรือ AC บางราย ติดตั้งแต่สายกราวด์ AC เพียงอย่างเดียวก็มี หากเกิดฟ้าผ่าขึ้นมาเครื่อง Inverter ที่หลายๆเจ้าว่าแพงนักแพงหนาก็จะสิ้นชีพได้ รวมถึงเรื่องขนาดของสายไฟก็เหมือนกัน ระบบโซล่าเซลล์ต้องใช้สายไฟที่ผลิตมาสำหรับใช้งานกับระบบโซล่าร์เซลล์เท่านั้น รวมถึงต้องดูเรื่องขนาดของสายไฟอีกด้วย ไม่งั้นสายไฟอาจจะระเบิดออกจากขั้วก็มีตัวอย่างมาแล้วหลายต่อหลายราย และยังมีเรื่องของเอกสารที่ต้องกรอกรายละเอียดทางเทคนิคอีกมากมาย ในการยื่นขออนุญาติกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งแบบเอย สเปคเอย เยอะแยะไปหมด แนะนำว่าท่านควรหาบริษัทฯ ดีๆจะได้ไม่มีปัญหาให้ปวดหัวทีหลัง



       อันดับที่สอง บริษัทที่ท่านเลือกควรจะมีการออกแบบขนาดพิกัดติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ให้เหมาะสมกับการใช้งานไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน มีการตรวจสอบความมั่นคงความแข็งแรงของอาคารและจัดทำแบบการติดตั้งโดยให้วิศวกรโยธาเป็นผู้ตรวจสอบและลงนามจากนั้นติดต่อแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เขต เทศบาล หรือ อบต. ในท้องที่ที่บ้านตั้งอยู่รับทราบการติดตั้งแผงโซลล่าเซลล์ บนหลังคาที่พักอาศัย โดยการยื่นเอกสาร อ.1 (ใบอนุญาติก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร)
       
       สิ่งที่ต้องเตรียม คือ

  •  แบบคำขอ ข.1
  •  แบบแปลนแสดงแผนผังและโครงสร้างหลังคา โครงสร้างรองรับแผงโซล่าเซลล์ รายละเอียดการติดตั้ง
  •  รายการคำนวณโครงสร้าง แบบฟอร์มการสำรวจอาคาร เอกสารรองรับของวิศวกรผู้ออกแบบและควบคุมงาน (โยธา)

 

       เริ่มดำเนินการตามขั้นตอนต่อได้เลย

1.     ติดต่อการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) เพื่อกรอกคำขอขายไฟฟ้าผ่านระบบ Online                               และ Upload เอกสารตามกำหนด

      เข้าเว็บไซต์การไฟฟ้านครหลวง (โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา)
      https://spv.mea.or.th/
      คลิกดูคู่มือโครงการ Solar ประชาชน ของ กฟน.
      https://www.mea.or.th/minisite/vspp/about/843
      เข้าเว็บไซต์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
      https://ppim.pea.co.th/
      คลิกดูโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย ของ กฟภ.
      https://ppim.pea.co.th/project/solar/detail/5ce68a82de1e5f00634179ae

2.     การไฟฟ้าฯ ตรวจสอบข้อมูล พร้อมแจ้งผลการพิจารณาทาง E-mail และทางเว็บไซต์

3.     ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ติดต่อยื่นเอกสาร พร้อมชำระค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ การไฟฟ้าฯ

4.     การไฟฟ้าฯ เข้าตรวจสอบระบบผลิตไฟฟ้า และดำเนินการเปลี่ยนเครื่องวัดแบบอ่านหน่วยไฟฟ้าได้ 2 ทิศทาง

5.     บริษัทฯ ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) แล้วเสร็จ

6.     ติดต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อยื่นขอจดแจ้งยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการผลิตไฟฟ้า                   ผ่านระบบ Online กรณี Inverter < 1,000 kVA

       ขั้นตอนการลงทะเบียนออนไลน์
    ลงทะเบียนออนไลน์เพื่อขอ Account (ลิงค์ช่องทางเข้าเว็บไซต์ http://app04.erc.or.th/elicense/login.aspx )
       *** คลิกที่ลงทะเบียนผู้ประกอบกิจการพลังงาน   
    รอทาง กกพ. ส่ง E-mail มาแจ้ง Username และ Password สำหรับเข้าเว็บเพื่อแจ้ง ยกเว้นฯ
       *** หากไม่ได้รับ E-mail สามารถติดต่อโทร. 1204 หรือ 02-2073599 ต่อ 719 หรือส่งเมล์ license@erc.or.th ***
    เมื่อได้รับ Username และ Password แล้วให้อัพโหลดเอกสารที่ทาง กกพ. ต้องการลงเว็บให้ครบถ้วน
    รอ E-mail แจ้งผลจากทาง กกพ.เพื่อให้นำเอกสารตัวจริงไปยื่นที่ กกพ. เขตพื้นที่ฯ
    กกพ. เขตพื้นที่ฯ แจ้งผลการพิจารณา ให้เข้ารับเอกสาร “ใบรับแจ้งประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นฯ
       ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า”   

        สิ่งที่ต้องเตรียม
     ภาพถ่ายแสดงการติดตั้งอุปกรณ์แผงโซล่าเซลล์และอินเวอร์เตอร์
     สำเนาหลักฐานการยื่นแจ้งจากหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น
     แบบ Single Line Diagram ทางการไฟฟ้า พร้อมวิศวกรไฟฟ้ากำลังลงนามรับรอง
     แบบแปลนโครงสร้างการติดตั้งและรายการคำนวณโครงสร้าง พร้อมวิศวกรโยธาลงนามรับรอง
     Mini CoP Checklist และ Specification Sheets ของอุปกรณ์

7.     ติดต่อ การไฟฟ้าฯ เพื่อตรวจสอบและทดสอบการเชื่อมต่อ

 
       ข้อควรทราบ
    ข้อมูลนี้ทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้เห็นภาพรวมขั้นตอนการขออนุญาต หากท่านต้องการจะดำเนินการขออนุญาตเอง
       แนะนำการดำเนินการเองนั้นจะเสียเวลาค่อนข้างมาก เนื่องจากต้องติดต่อหน่วยงานภาครัฐทั้ง 3 หน่วยงาน
       นอกจากนั้นยังมีเรื่องรายละเอียดการกรอกเอกสาร เตรียมเอกสารทางราชการต่างๆนานา
       ทำแบบเขียนแบบและต้องมีวิศวกรทั้งไฟฟ้าและโยธาเซ็นต์รับรองอีกด้วย แต่หากท่านมีเวลาจะลองดูก็ไม่เสียหลาย
    การกรอกแบบฟอร์มต่างๆ ท่านต้องศึกษาเพิ่มเติมจากเว็บ กกพ. กฟน. และ กฟภ. อย่างละเอียดอีกครั้ง
    กฟน. >>> การไฟฟ้านครหลวง >>> mea.or.th >>>แบ่งเป็น 18 เขตพื้นที่ ต้องประสานงานตามพื้นที่ท่านอยู่
       สามารถดูรายละเอียดสถานที่ตั้ง กฟน. แต่ละเขตได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้
        https://www.mea.or.th/map/district_office
    กฟภ. >>> การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค >>> แบ่งเป็น 12 เขตพื้นที่ ทั่วประเทศ ซึ่งก็ต้องประสานงานตามพื้นที่ที่ท่านอยู่
       สามารถดูรายละเอียดสถานที่ตั้ง กฟภ.แต่ละเขตได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้
       https://www.pea.co.th
    กกพ. >>> คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน >>> แบ่งเป็นโซนออกทั้งหมด 13 เขต ทั่วประเทศ
       โดย กกพ.เขต 13 ดูแล กทม., นนทบุรี และสมุทรปราการ สามารถดูรายละเอียดสถานที่ตั้ง กกพ. แต่ละเขตได้ที่นี่
       http://www.erc.or.th/OERCWeb/Front/StaticPage/StaticPageContactUs

 

 

ที่มา ECON SOLAR

 

view